เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
[10] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มแห่งต้นไม้ใด
ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น
เพราะคนผู้ประทุษร้ายมิตร ชื่อว่าเป็นคนเลวทราม
[11] พระราชาก็เหมือนต้นไม้ เราก็เป็นเหมือนกิ่งไม้
ข้าแต่มหาราช นายสารถีเป็นเหมือนคนผู้อาศัยร่มไม้
นายสารถี ถ้าท่านฝังเราไว้ในป่า
ชื่อว่าพึงทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม
(พระเตมีย์โพธิสัตว์ปรารภคาถาบูชามิตร 10 คาถาว่า)
[12] ผู้ใดไม่ประทุษร้ายมิตร
ผู้นั้นพรากจากเรือนของตนแล้ว
ย่อมมีอาหารสมบูรณ์
คนเป็นอันมากย่อมเข้าไปพึ่งพาผู้นั้นเลี้ยงชีพ
[13] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
จะไปสู่ชนบท นิคม และราชธานีใด ๆ
ก็เป็นผู้อันชนทั้งหลายในชนบท นิคม
และราชธานีนั้น ๆ บูชาไปทุกแห่งหน
[14] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ไม่มีพวกโจรข่มเหง
พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงดูหมิ่น ย่อมข้าม(ชนะ)ศัตรูทั้งปวงได้
[15] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
ไม่โกรธเคืองใคร ๆ มาสู่เรือนของตน
ย่อมเป็นผู้ที่มหาชนยินดีต้อนรับในที่ประชุม
และเป็นคนชั้นสูงของหมู่ญาติ
[16] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร สักการะคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้ที่คนอื่นสักการะตอบ
เคารพคนอื่นแล้วก็มีคนอื่นเคารพตอบ
เป็นผู้อันเขาสรรเสริญเกียรติคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :185 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 1.เตมิยชาดก (538)
[17] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร
บูชาผู้อื่น ย่อมได้รับการบูชาตอบ
ไหว้ผู้อื่น ย่อมได้รับการไหว้ตอบ
ทั้งได้รับอิสริยยศและเกียรติ
[18] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรือง1เหมือนไฟ
ย่อมรุ่งโรจน์เหมือนเทวดา เป็นผู้อันสิริไม่ทอดทิ้ง
[19] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ย่อมมีโคทั้งหลายตกลูกมาก
พืชที่หว่านลงในนาย่อมงอกงาม
ย่อมได้บริโภคผลของพืชทั้งหลายที่หว่านไว้แล้ว
[20] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร พลัดตกจากเหว ภูเขา
พลาดตกต้นไม้หรือเคลื่อนจากภพ ย่อมได้ที่พึ่ง
[21] คนผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร ศัตรูทั้งหลายจะระรานไม่ได้
เหมือนลมระรานต้นไทรที่มีรากและลำต้นงอกงามแล้วไม่ได้
(สุนันทสารถีประคองอัญชลี ทูลวิงวอนว่า)
[22] ข้าแต่พระราชโอรส เชิญเสด็จเถิด
กระหม่อมจักนำพระองค์เสด็จกลับ
ไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์
เชิญพระองค์เถลิงถวัลยราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า
พระองค์จักทรงทำอะไรในป่าได้เล่า
(ลำดับนั้น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงตรัสกับนายสุนันทสารถีนั้นว่า)
[23] นายสารถี พอทีสำหรับเราด้วยราชสมบัตินั้น
พระญาติทั้งหลายหรือทรัพย์ทั้งหลาย
ที่เราจะพึงได้ด้วยการประพฤติอันไม่ชอบธรรม

เชิงอรรถ :
1 รุ่งเรือง ในที่นี้หมายถึงรุ่งเรืองด้วยอิสริยยศและบริวารยศ (ขุ.ชา.อ. 9/18/23)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :186 }